วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

การบริหารค่าจ้างเงินเดือนให้เป็นธรรม



เรื่องของความเป็นธรรมในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนนั้น ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ก็ยังคงพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างไม่มีทางสิ้นสุด แม้ว่าจะมีการอบรม และให้ความรู้ในเรื่องการบริหารค่าจ้างเงินเดือนมากสักแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ยังมีเรื่องราวของความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นอยู่เสมอมา ส่วนใหญ่ในเรื่องของความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นนั้น มักจะมาจากแนวคิดการบริหารมากกกว่า

เช่น เมื่อเดือน เมษายนที่ผ่านมา มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ 300 บาท ผลก็คือ นายจ้างก็มีการปรับค่าจ้างให้กับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้าง หรือเงินเดือนที่น้อยกว่า 300 หรือ 9,000 บาท ให้ได้เท่ากับที่กฎหมายกำหนด จากนั้นก็ไม่มีการปรับผลกระทบใดๆ เลย ให้กับพนักงานที่เดิมที่เคยได้อยู่ที่ 9,000 บาทอยู่แล้ว ซึ่งส่งผลทำให้พนักงานใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน ได้รับค่าจ้างเงินเดือนเท่ากับพนักงานเก่าที่ทำงานมานาน อีกทั้งบางคนก็เป็นพนักงานที่ทำผลงานดีมาตลอด

ถ้าถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ผิดเลยครับ แต่ถ้าถามว่า ผิดหลักการบริหารค่าจ้างเงินเดือนหรือไม่ คำตอบก็คือ “ผิดแน่นอนครับ”

หลักในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนนั้น มีหลักง่ายๆ แค่เพียง ให้เกิดความเป็นธรรมในการให้ค่าจ้างและเงินเดือนเท่านั้น ซึ่งในลักษณะของความเป็นธรรมนั้น จะประกอบไปด้วยดังนี้

ความเป็นธรรมภายในองค์กร ความเป็นธรรมภายในองค์กรนี้ก็หมายถึง การสร้างความเป็นธรรมในการจ่ายค่าจ้างเงินเดือน โดยพิจารณาว่า การที่เราจะให้เงินเดือนมากน้อยนั้น จะต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์อะไรบ้าง ซึ่งโดยปกติก็จะพิจารณาจากค่างาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากความยากง่ายของงาน และขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละตำแหน่งงานนั่นเอง เรื่องของการสร้างความเป็นธรรมภายในองค์กร โดยอาศัยหลักในการประเมินค่างานนั้น เป็นพื้นฐานในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่สำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่สามารถกำหนดค่างานให้ถูกต้องเหมาะสม และเป็นธรรมแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ โครงสร้างเงินเดือนก็จะไม่เป็นธรรมไปด้วยครับ
บางองค์กรจัดทำโครงสร้างเงินเดือนขึ้นมาโดยที่ไม่มีการประเมินค่างานอย่างจริงจัง แต่ใช้แค่เพียงระดับชั้นของการบังคับบัญชามากำหนดระดับงาน ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้บางในบางตำแหน่งที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบสูงว่าบางตำแหน่ง กลับถูกจัดให้อยู่ในระดับเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นระดับเจ้าหน้าที่เหมือนกัน ผลก็คือ ตัวเลขการจ่ายเงินเดือนก็จ่ายอย่างไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับคุณค่าของงาน งานที่ยากกว่า กลับได้ค่าตอบแทนที่เท่าๆ กับงานที่ง่ายกว่า ผลก็คือ พนักงานก็จะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมอยู่ดี แม้ว่าเราจะพร่ำบอกว่า โครงสร้างเงินเดือนที่ได้มานั้นมาจากข้อมูลการสำรวจค่าจ้างในตลาดที่เราแข่งขันด้วยก็ตาม

ดังนั้นถ้าองค์กรของเราต้องการที่จะสร้างระบบการบริหารค่าตอบแทนที่เป็นธรรมจริงๆ สิ่งที่ควรจะเริ่มต้นก็คือ การประเมินค่างาน และจัดระดับงานตามค่างาน ให้กับทุกตำแหน่งงานในองค์กร เพื่อจัดสรรความยากง่ายของงานให้เหมาะสม และเป็นธรรมมากที่สุด

ความเป็นธรรมภายนอกองค์กร หลังจากที่มีการจัดความเป็นธรรมภายในโดยใช้ค่างานเป็นเครื่องมือแล้ว ความเป็นธรรมที่จะตามมาอีกตัวหนึ่งก็คือ ความเป็นธรรมเมื่อเทียบกับบริษัทภายนอก ในส่วนนี้ก็คือ การพิจารณาว่า งานของเราที่มีการประเมินค่างานไว้นั้น เทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่มีงานใกล้เคียงกับเราแล้ว เขาจ่ายกันอยู่ที่เท่าไหร่ แล้วเราถึงนำเอาตัวเลขจากการสำรวจนั้นมากำหนดเป็นโครงสร้างเงินเดือนขึ้นมา เมื่อทำได้ดังนี้ เราถึงจะมีโครงสร้างเงินเดือนที่เป็นธรรม ทั้งจากภายในองค์กร และจากภายนอกองค์กร

ที่มาhttp://prakal.wordpress.com/2012/06/14/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94-3/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น