วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555


โครงสร้างเงินเดือน กับความเข้าใจที่แตกต่าง

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็กจำนวนมากที่เริ่มสนใจที่จะมีโครงสร้างเงินเดือนเพื่อใช้ในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนของบริษัท โดยได้รับฟังมาว่า โครงสร้างเงินเดือนจะช่วยทำให้บริษัทสามารถที่จะบริหารค่าจ้างเงินเดือนได้อย่างคุ้มค้า ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทางด้านเงินเดือนค่าจ้างที่สูงจนเกินไป พอนายจ้างมองในมุมนี้ต่างก็คาดหวังว่าการมีโครงสร้างเงินเดือนจะช่วยทำให้บริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านเงินเดือนมากขึ้น พนักงานเองกลับมองอีกอย่าง ส่วนใหญ่พนักงานมักจะมองว่า การมีโครงสร้างเงินเดือนจะทำให้เงินเดือนของตนเองต่ำลง และอาจจะเกิดเงินเดือนตันได้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมองในมุมที่ไม่ค่อยถูกต้องนักในเรื่องของโครงสร้างเงินเดือน
มุมมองของนายจ้างในเรื่องของโครงสร้างเงินเดือนที่ไม่ค่อยถูกต้องนักมีดังนี้
  • มีโครงสร้างเงินเดือนแล้วจะทำให้พนักงานเกิดแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้นกว่าเดิมจริงๆ แล้วการมีโครงสร้างเงินเดือนนั้นไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายของการสร้างแรงจูงใจในการทำงานเลยครับ มีงานวิจัยมากมายที่พิสูจน์แล้วว่า แรงจูงใจในการทำงานของคนเรานั้นมาจากภายในใจของคนเราเอง ไม่ได้มาจากเงินหรือผลตอบแทนต่างๆ ที่จับต้องได้เลย
  • มีโครงสร้างเงินเดือนแล้วจะได้จ่ายเงินเดือนน้อยๆ มีนายจ้างหลายแห่งที่เข้าใจว่า การมีโครงสร้างเงินเดือนจะช่วยทำให้เขาจ่ายเงินเดือนพนักงานน้อยลงได้ และสามารถที่จะไม่ขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานในกรณีที่พนักงานตันกระบอกได้ ซึ่งการไม่มีโครงสร้างเงินเดือนนั้นทำไม่ได่ ซึ่งจริงๆ แล้วโครงสร้างเงินเดือนไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนน้อยๆ นะครับ แต่ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้นายจ้างสามารถหาพนักงานที่เก่งๆ ได้ ทั้งนี้การออกแบบโครงสร้างเงินเดือนที่ถูกต้องนั้นจะต้องสามารถที่จะดึงดูดและรักษาพนักงานที่เก่งๆ ในองค์กรไว้ได้ ไม่ใช่มีเพื่อจ่ายเงินเดือนต่ำๆ
ส่วนมุมมองของลูกจ้างที่มีต่อเรื่องของโครงสร้างสร้างเงินเดือนที่ไม่ค่อยถูกต้องนักก็มีดังนี้
  • มีโครงสร้างเงินเดือนแล้วจะทำให้ได้เงินเดือนน้อยลง ความเข้าใจผิดนี้เกิดขึ้นเยอะมากกับบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นวางโครงสร้างเงินเดือน พนักงานมักจะกลัว และมองว่าโครงสร้างเงินเดือนนั้นทำให้เขาจะได้รับเงินเดือนที่น้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะมีการจำกัดการจ่ายตามกรอบที่กำหนด
  • พนักงานทุกคนกลัวว่าเงินเดือนจะตันถ้ามีโครงสร้างเงินเดือน ซึ่งจริงๆ แล้วเงินเดือนจะตันก็ต่อเมื่อพนักงานคนนั้นไม่มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่พนักงานที่ตันกระบอกก็คือพนักงานที่ทำงานแบบเดิมๆ อยู่ทุกวัน ไม่มีการพัฒนาตนเองให้ทำงานที่ยากขึ้นได้ ส่วนพนักงานที่มีศักยภาพ สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ระบบโครงสร้างเงินเดือนจะไม่มีทางทำให้พนักงานกลุ่มนี้ต้องตันเลย เนื่องจากองค์กรยังไงก็ยังต้องการที่จะรักษาและอยากให้คนเก่งๆ ยังคงทำงานและสร้างผลงานให้กับองค์กรดังนั้นการที่จะปล่อยให้คนเก่งเงินเดือนตันก็คงไม่ถูกต้องนัก แต่การปล่อยให้คนไม่เก่งและไม่มีศักยภาพเงินเดือนตันผมคิดว่านี่น่าจะเป็นสิ่งที่น่าทำมากกว่า
  • มีโครงสร้างเงินเดือนแล้วจะได้ขึ้นเงินเดือนน้อยลง มีพนักงานอีกจำนวนมากมีความเข้าใจว่า เมื่อบริษัทมีโครงสร้างเงินเดือนแล้ว จะทำให้การขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงานในแต่ปีขึ้นน้อยลง ก็เลยไม่ค่อยอยากให้องค์กรมีโครงสร้างเงินเดือน
ลองมามองในมุมมองของหลักการและที่มาที่ไปของการมีโครงสร้างเงินเดือนกันดีกว่า แล้วจะเห็นว่าสิ่งที่เข้าใจกันนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจกันผิดไปทั้งหมด
หลักการและแนวคิดของการวางโครงสร้างเงินเดือนนั้น มีอยู่ง่ายๆ แค่ 2 อย่างเท่านั้นก็คือ มีขึ้นเพื่อที่จะดึงดูด และรักษาพนักงานที่มีฝึมือให้ทำงานในองค์กร ย้ำนะครับ พนักงานที่มีฝืมือ หรือที่เรียกว่าคนเก่งนั่นเองครับ ดังนั้นการที่องค์กรจะสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานได้นั้น จะจ่ายต่ำๆ ก็ไม่สามารถดึงดูดและรักษาได้อย่างแน่นอน ดังนั้นความเข้าใจที่ว่า มีโครงสร้างเงินเดือนแล้วเงินเดือนจะน้อยลง หรือขึ้นเงินเดือนน้อยๆ นั้น ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องของการมีโครงสร้างเงินเดือนอย่างแน่นอนครับ
ฝ่ายนายจ้างเองก็เช่นกันครับ ถ้าเข้าใจว่าการมีโครงสร้างเงินเดือนแล้วนั้นจะทำให้การจ่ายเงินเดือนของบริษัทน้อยลงนั้น เป็นการเข้าที่ผิดอย่างมากเลยครับ การมีโครงสร้างเงินเดือนนั้นจะทำให้การจ่ายเงินเดือนของบริษัทสามารถที่จะแข่งขันกับที่อื่นได้ และการที่เราสามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นได้นั้น ไม่ได้แปลว่าจะเป็นการจ่ายต่ำ หรือจ่ายสูง แต่เป็นการจ่ายที่อยู่ในเกณฑ์ที่แข่งขันได้ การแข่งขันนี้ก็คือ การแข่งขันในการดึงดูดและรักษาคนเก่งนั่นเองครับ
ที่มาhttp://prakal.wordpress.com/2012/07/09/%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%84/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น