วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555


ความสำคัญของการจดปฐมนิเทศพนักงาน



การปฐมนิเทศพนักงาน (Orientation)
ความหมาย การปฐมนิเทศหมายถึง “กิจกรรมทางด้านการบริหารงานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพยายามแนะนำพนักงานใหม่ให้รู้จักหน่วยงาน และให้รู้จักงานในหน้าที่ที่ต้องทำ ตลอดจนผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน,,
ภายหลังจากที่ได้มีการเสาะหาและคัดเลือกพนักงานได้แล้ว กิจกรรมหรืองานที่ต้องทำในทางการบริหารงานบุคคลขั้นถัดมาก็คือ การที่จะต้องทำการปฐมนิเทศพนักงานใหม่คือเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลเพื่อช่วยให้พนักงานได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในระยะเริ่มแรกที่เข้ามาทำงาน แผนงานด้านการจัดทำปฐมนิเทศนี้ ในทางที่ถูก พนักงานใหม่ควรจะได้รับการบอกกล่าวเกี่ยวกับงานที่จะต้องทำ เพื่อที่จะให้เป็นผลสำเร็จต่อองค์การ ตลอดจนจะต้องเข้าใจถึงเรื่องต่าง ๆ ในความ หมายที่กว้างของบริษัทด้วยว่าสินค้าและบริการที่องค์การขายอยู่นั้น เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร และบริษัทได้มีเป้าหมายนโยบายในการดำเนินการค้าอย่างไรในช่วงระยะเวลาที่ทำการปฐมนิเทศนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้เพราะว่าถึงแม้ว่าพนักงานจะได้มีความรู้อย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับองค์การ และ ข้าใจถึงความสำคัญของงานที่ทำแล้วก็ตาม ก็นับว่ายังคงเป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่ที่จะต้องให้มีกระบวนการนี้ขึ้น เพื่อที่จะได้ดำเนินการให้ข้อมูลโดยครบถ้วน ถึงจะช่วยให้พนักงานใหม่ได้เข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนยิ่งขั้น
วิธีการปฐมนิเทศนี้ อาจมีการกระทำแตกต่างกัน การที่จะทำให้ได้ผลเพียงใดนั้นย่อมอยู่ที่ความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และปัญหาที่ต้องมีการทำปฐมนิเทศ ซึ่งหากได้เข้าใจดังกล่าวแล้ว ก็จะช่วยให้มีโอกาสกระทำได้ถูกต้อง โดยมีการให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับบริษัทและข้อมูลที่เป็นข้อมูลที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพนักงานใหม่
ข้อมูลชนิดต่าง ๆ ที่พนักงานใหม่ควรจะได้รับนั้น ย่อมแตกต่างกันไปตามหน้าที่งานของแต่ละคน แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญที่เป็นเรื่องซึ่งพนักงานจะต้องทราบ หรือได้รับทราบในทันทีเหมือนกัน เช่นเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงาน การจ่ายผลตอบแทน ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงาน ซึ่งมักจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบ ต่าง ๆ และการรักษาความปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อที่จะช่วยป้องกันมิให้เกิดการผิดพลาด หรือเกิดอุบัติเหตุ หรือเลินเล่อในเรื่องสำคัญบางอย่าง หลังจากที่ให้ข้อมูลสำคัญไว้ครบถ้วนแล้ว ต่อจากนั้นจึงค่อยหาโอกาสที่จะให้ข้อมูลที่มีความสำคัญลำดับรองลงมา
เหตุที่ถือว่าการปฐมนิเทศเป็นสิ่งจำเป็นนั้น สาเหตุก็เพราะว่าโดยปกติแล้วองค์การทุกแห่งย่อมเป็นสภาพที่ทำงานแห่งใหม่ของพนักงาน และมักจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามสภาพเงื่อนไข ตลอดจนวิธีการทำงานในบริษัท นโยบายและระเบียบปฏิบัติ รวมตลอดถึงโครงสร้างและเนื้อหาของงาน สิ่งเหล่านี้มักจะแตกต่างกันไปในแต่ละสภาพแวดล้อม และเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ในทฺกองค์การ ตามเวลา ดังนั้นเพื่อที่จะไม่ให้เป็นปัญหาในเรื่องความไม่เข้าใจ จึงจำเป็นที่จะต้องให้พนักงานได้มีโอกาสติดตามสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และเรื่องนี้จะเห็นว่าหาใช่แต่เฉพาะพนักงานใหม่เท่านั้น แม้พนักงานเก่าที่เคยทำงานอยู่ก่อน เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ การปฐมนิเทศก็อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำใหม่เช่นเดียวกัน ยิ่งในกรณีของพนักงานใหม่ด้วยแล้ว พนักงานใหม่ย่อมมีทัศนคติและมีลักษณะของตัวเองมาก่อน ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ โดยเฉพาะในบริษัทหรือหน่วยงาน ใหม่ที่จะต้องมาสังกัดย่อมจะเป็นความเข้าใจของแต่ละคน ซึ่งอาจจะมีพื้นฐานที่ไม่ตรงกับสภาพที่เป็นอยู่ในหน่วยงานใหม่ของเขา จึงมักจะปรากฏอยู่เสมอว่าพนักงานใหม่ที่ไม่ได้รับการเแจ้งหรือปฐมนิเทศ ให้เข้าใจเรื่องที่ควรทราบนั้น เมื่ออยู่ไปสักระยะหนึ่งในช่วงแรก ๆ นั่นเอง ก็จะเกิดการขัดแย้งทางจิตวิทยาขึ้น จนกลายเป็นการตื่นตระหนก ประหม่า หรือเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ผิดไป การปรับตัวจึงเป็นไปได้ ไม่ราบรื่นและมักจะมีผลทำให้มีการลาออกเกิดขขึ้น หรือไม่ก็ต้องใช้เวลานานกว่าที่จะเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ถือว่าเป็นภารกิจของผู้บริหารที่จะต้องจัดโครงการปฐมนิเทศขึ้นมา เพื่อที่จะช่วยให้พนักงานสามารถปรับตัวให้เข้ากันได้อย่างดีในระยะแรกนั้นเอง ทั้งนี้ย่อมเป็นประโยชน์ที่จะช่วยให้พนักงานมีขวัญและกำลังใจที่ปกติและมีความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ จากข้อมูลที่ได้รับจากการปฐมนิเทศนั้น การปฐมนิเทศจึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งและถึงแม้จะเป็นกิจกรรมส่วน ย่อยขั้นตอนหนึ่งก็ตาม แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วหากพิจารณาในแง่ของจิตวิทยาหรือความนึกคิดแล้ว ผลกระทบของการมิได้มีการปฐมนิเทศ นับได้ว่าเป็นเรื่องที่จะก่อให้เกิดผลเสียหายได้มากมายเช่นกัน

วัตถุประสงค์ของการจัดปฐมนิเทศ

วัตถุประสงค์ของการจัดปฐมนิเทศนั้นอาจสรุปได้ ดังนี้คือ
1.  เพื่อช่วยลดปัญหาที่เกี่ยวกับต้นทุนอันเนื่องจากพนักงานที่เข้าใหม่ กล่าวคือ ถ้าหากพนักงานใหม่มิได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับงาน ตลอดจนหน่วยงานและสมาชิกเพื่อนร่วมงานแล้ว ก็ย่อมเป็นปัญหาทำให้เสียเวลาแก่พนักงานใหม่ที่จะต้องค่อย ๆ เรียนรู้ความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ ซึ่ง นั่นก็ย่อมหมายถึงการที่จะต้องเสียต้นทุนโดยไม่จำเป็น สำหรับระยะแรกของพนักงานใหม่ในช่วงของการเริ่มต้นฝึกหัดงาน การจัดปฐมนิเทศที่มีประสิทธิภาพจะสามารถช่วยลดต้นทุนได้ในแง่นี้และช่วยให้พนักงานใหม่สามารถทำงานเข้าสู่มาตรฐานเทียบเท่ากับคนอื่น ๆ ได้รวดเร็วขึ้น
2.  ช่วยลดปัญหาความกังวล และขจัดการแซวของพนักงานเก่า ๆ ถ้าหากพนัก งานใหม่มีความกังวลแล้ว ส่วนใหญ่ผลของการกังวลและกลัวในสิ่งต่าง ๆ มักจะทำให้การปฏิบัติงานล้มเหลวไม่ได้ผลเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากพนักงานเก่ามิได้มีความช่วยเหลืออย่างจริงใจ หรือมีมิตรไมตรีที่ดี แต่กลับคอยแหย่หรือก่อกวนหยอกล้อพนักงานใหม่แล้ว ก็ยิ่งจะมีผลทำให้เกิดความกลัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลเสียก็ย่อมเกิดสำหรับผู้ที่ต้องไปเผชิญกับสภาพแวดล้อมใหม่และเพื่อนร่วมงานใหม่ ดังนั้นผู้บังคับบัญชาจึงควรถือเป็นหน้าที่ที่นอกจากจะต้องช่วยลดความกังวลเพื่อให้เข้าใจ ในสิ่งต่าง ๆ ทั้งข้อมูลที่เกี่ยวกับงานและเพื่อนร่วมงานแล้ว ยังจะต้องคอยดูแลส่งมอบพนักงานใหม่ให้มีการรับเพื่อนใหม่เข้าไปในกลุ่มในลักษณะที่ช่วยเหลือช่วยดูแลระหว่างกัน การปฐมนิเทศพนักงานใหม่จึงเท่ากับเป็นการช่วยเหลือในการขจัดปัญหาเหล่านี้ ตลอดจนสามารถช่วยลดความกังวลที่มีอยู่ได้
3.  ช่วยลดอัตราพนักงานลาออก ถ้าหากพนักงานมีความเข้าใจตัวเองว่าตัวเองทำงานไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก หรือเป็นที่ไม่พึงปรารถนาแก่เพื่อนร่วมงานหรือหน่วยงานหรือกลายเป็นส่วนเกิน ซึ่งหากมีความรู้สึกขึ้นในทำนองเช่นที่ว่านี้เมื่อใดแล้ว วิธีการแก้ไขของเขาก็คือมักจะคิดลาออก จากการวิเคราะห์ ได้พบสถิติที่แจ้งชัดว่าอัตราลาออกมักจะสูงในช่วงระยะแรกของการเข้าทำงาน
และถ้าหากได้จัดการแก้ไขโดยมีการปฐมนิเทศที่มีประสิทธิภาพแล้ว การลาออกในส่วนนี้ก็จะสามารถลดลงได้ ซึ่งย่อมเท่ากับเป็นการช่วยประหยัดต้นทุนไปในตัวด้วย ทั้งนี้เพราะการที่จะรับพนักงานคน ๆ หนึ่งได้นั้นธุรกิจมักจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสรรหาและคัดเลือกมาแล้วเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว อีก ทั้งยังต้องเสียเวลาเพื่อการนั้นด้วย
4.  ช่วยประหยัดเวลาให้กับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน เนื่องจากว่าพนักงานที่เข้ามาใหม่และที่ได้รับเข้ามาแล้ว ถึงอย่างไรเขาก็จะต้องทำงานที่มอบหมายให้เสร็จสิ้น จึงย่อมเป็นเหตุผลโดยตรงที่ การดำเนินการช่วยเหลือเขาจะเป็นสิ่งที่พึงต้องให้อย่างยิ่ง ผู้ที่จะให้การช่วยเหลือเขาได้อย่างดีนั้นก็คือ เพื่อนร่วมงานและหัวหน้างาน ซึ่งควรจะได้ใช้เวลาในการที่จะเข้าถึงตัว และช่วยเหลือพนักงานให้สามารถทำงานได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ในที่นี้การจัดปฐมนิเทศที่ถูกต้องและดีพอก็ย่อมจะเท่ากับเป็นส่วนช่วยให้ทุก ๆ ฝ่ายได้รับประโยชน์ที่ไม่ต้องไปเสียเวลาระหว่างกันอีกในภายหลัง
5.  ช่วยให้พนักงานใหม่ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความคาดหมาย ต่างๆต่องาน ตลอดจนมีทัศนคติในทางบวกหรือทางที่ดีต่อเจ้าของกิจการหรือ
หัวหน้างานและเพื่อให้มีความเข้าใจในงานที่ทำด้วย แต่ก่อนนักสังคมวิทยามักจะเชื่อว่า ความคาดหมายที่เกี่ยวกับงานนั้นจะปรากฏขึ้นก็ต่อเมื่อได้มีประสพการณ์และเรียนรู้งานต่าง ๆ เป็นเวลานานตามสมควรแล้ว โดยสังคมภายนอกจะมีส่วนอย่างสำคัญและเป็นตัวกำหนดในการเสริมสร้างทัศนคติและพฤติกรรมที่เกี่ยวกับงานแต่ละอย่าง ซึ่งความเข้าใจนี้ไม่เป็นจริงเพราะข้อเท็จจริงปรากฏ ว่าพนักงานใหม่ส่วนใหญ่มักจะเรียนรู้ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการคาดหมายขององค์การที่จะมีต่อเขาและการคาดหมายของเขาเองที่มีต่องานนั้น ๆ ได้ทันทีตั้งแต่ระยะแรกเริ่มของการทำงาน และในเวลาไม่สู้จะนานนักก็มักจะครุ่นคิดในสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลาว่า เขาได้ทำให้กับองค์การมากไปหรือน้อยไปอย่างไร พนักงานแต่ละคนมักจะนำเอาเรื่องต่าง ๆ และงานที่ทำมาเป็นความนึกคิดในทัศนของตนเสมอ จากการวิจัยค้นคว้าที่ทำการศึกษาในโรงงานของ Texas Instruments ได้ชี้ให้เห็นว่า
ก. ในไม่กี่วันแรก ๆ ของการทำงาน ความกังวลและความไม่แน่ใจมักจะปรากฏขึ้นเสมอในระยะดังกล่าว
ข. พนักงานใหม่ส่วนใหญ่จะทำงานไปตามขนาดของการชักนำของกลุ่มเพื่อนร่วมงานที่ทำอยู่แล้ว และจะมีความกังวลมากยิ่งขึ้นจากอิทธิพลของกลุ่มเพื่อนร่วมงาน
ค. ความกังวลดังกล่าวนี้ จะมีผลกระทบต่อกระบวนการฝึกอบรมที่จะดำเนินการต่อไปด้วย
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ เราย่อมจะเห็นได้ว่าการปฐมนิเทศเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่เป็นเครื่องช่วยให้พนักงานผู้นั้นมีอิสระที่จะมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับงาน ทั้งในแง่ความคาดหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงาน ตลอดจนเพื่อให้มีทัศนคติ และมีความพอใจในงานที่ทำด้วย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้อิทธิพลของกลุ่มมามีส่วนกำหนดความหมายที่เกี่ยวกับงานอย่างผิด ๆ

โครงสร้างเงินเดือน กับความเข้าใจที่แตกต่าง

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็กจำนวนมากที่เริ่มสนใจที่จะมีโครงสร้างเงินเดือนเพื่อใช้ในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนของบริษัท โดยได้รับฟังมาว่า โครงสร้างเงินเดือนจะช่วยทำให้บริษัทสามารถที่จะบริหารค่าจ้างเงินเดือนได้อย่างคุ้มค้า ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทางด้านเงินเดือนค่าจ้างที่สูงจนเกินไป พอนายจ้างมองในมุมนี้ต่างก็คาดหวังว่าการมีโครงสร้างเงินเดือนจะช่วยทำให้บริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านเงินเดือนมากขึ้น พนักงานเองกลับมองอีกอย่าง ส่วนใหญ่พนักงานมักจะมองว่า การมีโครงสร้างเงินเดือนจะทำให้เงินเดือนของตนเองต่ำลง และอาจจะเกิดเงินเดือนตันได้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมองในมุมที่ไม่ค่อยถูกต้องนักในเรื่องของโครงสร้างเงินเดือน
มุมมองของนายจ้างในเรื่องของโครงสร้างเงินเดือนที่ไม่ค่อยถูกต้องนักมีดังนี้
  • มีโครงสร้างเงินเดือนแล้วจะทำให้พนักงานเกิดแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้นกว่าเดิมจริงๆ แล้วการมีโครงสร้างเงินเดือนนั้นไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายของการสร้างแรงจูงใจในการทำงานเลยครับ มีงานวิจัยมากมายที่พิสูจน์แล้วว่า แรงจูงใจในการทำงานของคนเรานั้นมาจากภายในใจของคนเราเอง ไม่ได้มาจากเงินหรือผลตอบแทนต่างๆ ที่จับต้องได้เลย
  • มีโครงสร้างเงินเดือนแล้วจะได้จ่ายเงินเดือนน้อยๆ มีนายจ้างหลายแห่งที่เข้าใจว่า การมีโครงสร้างเงินเดือนจะช่วยทำให้เขาจ่ายเงินเดือนพนักงานน้อยลงได้ และสามารถที่จะไม่ขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานในกรณีที่พนักงานตันกระบอกได้ ซึ่งการไม่มีโครงสร้างเงินเดือนนั้นทำไม่ได่ ซึ่งจริงๆ แล้วโครงสร้างเงินเดือนไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนน้อยๆ นะครับ แต่ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้นายจ้างสามารถหาพนักงานที่เก่งๆ ได้ ทั้งนี้การออกแบบโครงสร้างเงินเดือนที่ถูกต้องนั้นจะต้องสามารถที่จะดึงดูดและรักษาพนักงานที่เก่งๆ ในองค์กรไว้ได้ ไม่ใช่มีเพื่อจ่ายเงินเดือนต่ำๆ
ส่วนมุมมองของลูกจ้างที่มีต่อเรื่องของโครงสร้างสร้างเงินเดือนที่ไม่ค่อยถูกต้องนักก็มีดังนี้
  • มีโครงสร้างเงินเดือนแล้วจะทำให้ได้เงินเดือนน้อยลง ความเข้าใจผิดนี้เกิดขึ้นเยอะมากกับบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นวางโครงสร้างเงินเดือน พนักงานมักจะกลัว และมองว่าโครงสร้างเงินเดือนนั้นทำให้เขาจะได้รับเงินเดือนที่น้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะมีการจำกัดการจ่ายตามกรอบที่กำหนด
  • พนักงานทุกคนกลัวว่าเงินเดือนจะตันถ้ามีโครงสร้างเงินเดือน ซึ่งจริงๆ แล้วเงินเดือนจะตันก็ต่อเมื่อพนักงานคนนั้นไม่มีศักยภาพในการพัฒนาตนเองให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่พนักงานที่ตันกระบอกก็คือพนักงานที่ทำงานแบบเดิมๆ อยู่ทุกวัน ไม่มีการพัฒนาตนเองให้ทำงานที่ยากขึ้นได้ ส่วนพนักงานที่มีศักยภาพ สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ระบบโครงสร้างเงินเดือนจะไม่มีทางทำให้พนักงานกลุ่มนี้ต้องตันเลย เนื่องจากองค์กรยังไงก็ยังต้องการที่จะรักษาและอยากให้คนเก่งๆ ยังคงทำงานและสร้างผลงานให้กับองค์กรดังนั้นการที่จะปล่อยให้คนเก่งเงินเดือนตันก็คงไม่ถูกต้องนัก แต่การปล่อยให้คนไม่เก่งและไม่มีศักยภาพเงินเดือนตันผมคิดว่านี่น่าจะเป็นสิ่งที่น่าทำมากกว่า
  • มีโครงสร้างเงินเดือนแล้วจะได้ขึ้นเงินเดือนน้อยลง มีพนักงานอีกจำนวนมากมีความเข้าใจว่า เมื่อบริษัทมีโครงสร้างเงินเดือนแล้ว จะทำให้การขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงานในแต่ปีขึ้นน้อยลง ก็เลยไม่ค่อยอยากให้องค์กรมีโครงสร้างเงินเดือน
ลองมามองในมุมมองของหลักการและที่มาที่ไปของการมีโครงสร้างเงินเดือนกันดีกว่า แล้วจะเห็นว่าสิ่งที่เข้าใจกันนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจกันผิดไปทั้งหมด
หลักการและแนวคิดของการวางโครงสร้างเงินเดือนนั้น มีอยู่ง่ายๆ แค่ 2 อย่างเท่านั้นก็คือ มีขึ้นเพื่อที่จะดึงดูด และรักษาพนักงานที่มีฝึมือให้ทำงานในองค์กร ย้ำนะครับ พนักงานที่มีฝืมือ หรือที่เรียกว่าคนเก่งนั่นเองครับ ดังนั้นการที่องค์กรจะสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานได้นั้น จะจ่ายต่ำๆ ก็ไม่สามารถดึงดูดและรักษาได้อย่างแน่นอน ดังนั้นความเข้าใจที่ว่า มีโครงสร้างเงินเดือนแล้วเงินเดือนจะน้อยลง หรือขึ้นเงินเดือนน้อยๆ นั้น ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องของการมีโครงสร้างเงินเดือนอย่างแน่นอนครับ
ฝ่ายนายจ้างเองก็เช่นกันครับ ถ้าเข้าใจว่าการมีโครงสร้างเงินเดือนแล้วนั้นจะทำให้การจ่ายเงินเดือนของบริษัทน้อยลงนั้น เป็นการเข้าที่ผิดอย่างมากเลยครับ การมีโครงสร้างเงินเดือนนั้นจะทำให้การจ่ายเงินเดือนของบริษัทสามารถที่จะแข่งขันกับที่อื่นได้ และการที่เราสามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นได้นั้น ไม่ได้แปลว่าจะเป็นการจ่ายต่ำ หรือจ่ายสูง แต่เป็นการจ่ายที่อยู่ในเกณฑ์ที่แข่งขันได้ การแข่งขันนี้ก็คือ การแข่งขันในการดึงดูดและรักษาคนเก่งนั่นเองครับ
ที่มาhttp://prakal.wordpress.com/2012/07/09/%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%84/

การบริหารงานบุคคลนี้แปลมาจากคำว่า Personnel Administration บ้าง  จากคำว่า  Management of Human Resources บ้าง จาก Personnel management บ้าง  และจาก  Modern Personnel Management บ้างก็มี  ส่วนคำในภาษาไทยนั้นนอกจากจะใช้คำว่า การบริหารงานบุคคลแล้ว บางทีก็เรียกว่า การบริหารงานเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่บ้าง  การจัดการบุคคลบ้าง  ฝ่ายบุคลาการบ้าง  และฝ่ายจัดการบุคคลบ้าง
อย่างไรก็ดี  ผู้เขียนรักในคำที่ใช้ว่า “การบริหารงานบุคคล” เพราะเป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางดี  เหตุว่ามนุษย์นั้น  ถ้าพิจารณากันให้ถ่องแท้แล้วก็จะเห็นว่าเป็นขุมกำลังอันใหญ่หลวง และสำคัญยิ่งต่อการบริหารงานทั้งหลายทั้งปวง  ไม่ว่าจะเป็นองค์การขนาดเล็ก หรือองค์การขนาดใหญ่ที่มีลักษณะซับซ้อนเพียงใดก็ตาม  ปัจจัยบุคคล ยังคงความสำคัญเป็นเอก และเป็นเสมือนหัวใจและรากแก้วของการบริหารอยู่เสมอ
สำหรับความหมายของการบริหารงานบุคคลนั้น  อาจให้ความหมายเชิงนิยามได้ดังนี้คือ  “การบริหารงานบุคคลเป็นกระบวนการวางนโยบาย  ระเบียบและกรรมวิธี ในการดำเนินการเกี่ยวกับตัวบุคคลที่ปฏิบัติงานในองค์การ  โดยให้ได้บุคคลที่เหมาะสม และบำรุงรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรด้านมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ ให้มีปริมาณเพียงพอ  เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย”

เทคนิคที่ใช้พัฒนาความสามารถทางการจัดการ


เทคนิคที่ใช้ในการพัฒนาการจัดการนั้น วิธีการส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีจำลองสถานการณ์จากที่เป็นจริง ซึ่งวิธีที่ใช้และที่เป็นที่นิยมใช้มากที่สุดมีดังต่อไปนี้ คือ
1.  วิธีการใช้กรณีศึกษา (The case Method)
วิธีที่ใช้มากที่สุดวิธีหนึ่ง ก็คือ เทคนิคการใช้ Case Method หรือกรณีศึกษา แต่ละกรณีนั้นก็คือ การเขียนเรื่องราวของสิ่งที่ได้มีการตัดสินใจในสภาพที่ได้เกิดขึ้นจริงเพื่อให้ผู้อบรมได้ทราบ จากนั้นพนักงานผู้บริหารที่เป็นพนักงานฝึกหัดก็จะถูกสั่งให้ศึกษาเพื่อพิจารณาปัญหาของเรื่องราวและทำการวิเคราะห์เรื่องต่าง ๆ ของกรณีนั้นตามทัศนะของตัวและให้เสนอแนะคำตอบ ตลอดจนค้นหาทางเลือกในการแก้ปัญหา จนได้คำตอบหรือสามารถทำการตัดสินใจว่า ควรจะทำวิธีใดจึงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด รวมทั้งการให้ทดลองแก้ไขการปฏิบัติงานด้วยตนเอง วิธีนี้การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้อย่างมากถ้าหากได้มีการร่วมสนใจศึกษาอย่างจริงจังจากทั้งสองฝ่าย และมีการร่วมถกปัญหาอย่างครบถ้วน โดยศึกษาพร้อมกันทั้งกลุ่มด้วย
วิธี Case Method หรือ กรณีศึกษานี้ ส่วนมากมักจะต้องเกี่ยวข้องกับเอกสารจำนวนมาก เช่น นโยบายของบริษัท ซึ่งถ้าหากจะโต้แย้งก็อาจจะพูดได้เช่นกันว่า วิธีนี้อาจจะไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในแง่ที่จะมีข้อที่ด้อยกว่าในแง่ของการจัดโครงเรื่องที่จะให้สามารถอ่านอย่างมีระเบียบและครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของข้อมูลสถิติต่าง ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น ในบางครั้งการนั่งฟัง lecture ที่เข้าใจโดยมีผู้บรรยายที่บรรยายได้ดีและลึกซึ้ง และมีการอธิบายอย่างเป็นระบบและเป็นระเบียบลำดับ ก็อาจจะเป็นวิธีที่ดีกว่า และสมบูรณ์กว่าการค่อย ๆ แกะ ค่อย ๆ ติดตามจากกรณีศึกษา ที่มีแต่ข้อมูลล้วน ๆ ความมีประสิทธิภาพของการใช้กรณีศึกษาจึงขึ้นอยู่กับความสามารถของการอบรม และขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะมีกรณีศึกษาที่เขียนขึ้นอย่างดีและมากพอ ถ้าหากทั้งสองปัจจัยได้มีความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว วิธี Case Method ก็จะเป็นวิธีที่เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพยิ่งในการ ที่จะช่วยปรับปรุงและสอนให้ทราบถึงเหตุผลของการตัดสินใจได้เช่นกัน ในเรื่องนี้ได้มีการพิจารณา ศึกษาไว้มากแต่ก็มีเรื่องน่าสนใจเรื่องหนึ่ง คือ มีผู้ศึกษาค้นพบว่าการเสนอ Case กรณีศึกษาโดยการใช้ฟิล์มอธิบายเรื่องราวนั้นจะเป็นวิธีที่ได้ผลมากกว่า Case ที่เขียนขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรและข้อมูล­ตัวเลข
ชนิดของกรณีศึกษา กรณีศึกษาอาจจะมีหลายชนิดแตกต่างกัน เช่น การแบ่งออกเป็น
Incident Method และ The demand technigue วิธี Incident Method ก็คือการเสนอหัวข้อเรื่อง บอกเหตุการณ์โดยแสดงออกมาเป็นชุด และหลังจากนั้น นักศึกษาก็จะได้รับมอบหมายให้แสดงบทบาทในการตรวจดูเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้น จากนั้นถ้าหากนักศึกษาต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็จะมีการให้ข้อมูลเพิ่ม (ถ้าหากนักศึกษาถามคำถามที่ถูกต้อง) นักศึกษาแต่ละคนจะพยายามหาคำตอบจาก Case และจะรวมกลุ่มคำตอบที่เหมือนกันเพื่อประสานกันเป็นคำตอบสำหรับเรื่องนั้น ๆ จากนั้นแต่ละกลุ่มก็จะสรุปคำตอบของกลุ่มของตน และการนำมาถกร่วมกันระหว่างกลุ่มในภายหลัง ในที่นี้ผู้บรรยายจะชี้ในที่สุดว่า เรื่องจริงที่เกิดขึ้นใน Case นั้นเป็นอย่างไรและผลที่ตามเป็นอย่างไร ซึ่งจะเปิด โอกาสในขั้นสุดท้ายที่จะให้กลุ่มนำคำตอบของตัวมาตรวจสอบกับคำเฉลย แล้วจึงให้แง่คิดแก่ผู้ที่เข้าร่วมถกปัญหาที่จะให้รู้จักวิธีการประยุกต์ความรู้ความเข้าใจให้เข้ากับสภาพงานของแต่ละคน
2.  การให้แสดงบทบาท (Role Playing)
วิธีการให้แสดงบทบาทจะเป็นวิธีซึ่งผสมกันระหว่างวิธี Case Method และ Attitude Deve­lopment กล่าวคือ ผู้บริหารแต่ละคนที่จะทำการพัฒนานั้นจะได้รับมอบหมายให้แสดงบทบาทในห้องอบรม ซึ่งอาจจะเป็นกรณีของเรื่องราวเรื่องใดเรื่องหนึ่งและจะให้แสดงบทบาทและการโต้ตอบ ปัญหาอย่างผู้แสดงบทบาทคนอื่น ๆ เช่นเดียวกับการแสดงละคร ผู้แสดงบทบาทจะได้รับมอบหมาย ให้สมมติว่าเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งในสถานการณ์หนึ่งและให้ปฏิบัติตอบต่อเหตุการณ์ของอีกคนหนึ่ง ว่าถ้าพบเหตุการณ์เช่นนั้นแล้วจะทำอย่างไร ก่อนที่จะให้มีการแสดงบทบาทผู้ที่เกี่ยวข้องจะแสดงบทบาททุกคนจะได้รับข้อมูลในส่วนของตนตามเหตุการณ์ และอีกกลุ่มหนึ่งก็จะเป็นกลุ่มซึ่งมิได้มีข้อมูลเตรียมให้ บ่อยครั้งที่การใช้วิธีการให้แสดงบทบาทนั้นมักจะมีการบันทึกโดยเทปโทรทัศน์แล้วทำการวิเคราะห์แต่ละขั้นตอนของการพัฒนาเรื่องราวเป็นเรื่อง ๆ โดยทั่วไปแล้ววิธีการแสดงบทบาทนี้มักจะ จัดขึ้นในกลุ่มของผู้อบรมในขนาดประมาณ 12 คน ความสำเร็จของวิธีนี้จะมีได้มากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้แสดงที่จะแสดงบทที่ได้รับมอบหมาย โดยมีความเชื่อมั่นในบทนั้น ๆ เต็มที่ขนาดไหน ผลของการใช้วิธีการแสดงบทบาทนั้นประสิทธิภาพจะได้ผลมากน้อยเพียงใดนั้น ค่อนข้างจะวัดได้ยากมาก
3.  การใช้รูปแบบจำลองเกี่ยวกับงาน (The Task Model)
อีกวิธีหนึ่ง คือ วิธี The Task Model ซึ่งวิธีนี้ กลุ่มผู้ทำงานจะได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ยุ่งยากอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจำต้องอาศัยวิธีการประกอบและให้ทำงานนั้น ๆ ให้ลุล่วงโดยมีคำสั่งที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนสำหรับการทำงานชนิดนั้น ๆ วิธีนี้เป็นวิธีที่มุ่งจะแสดงให้เห็นถึงปัญหาความยุ่งยากของการสื่อความ ซึ่งกรณีนี้จะมีการจัดกลุ่มบุคคลให้ถือชิ้นส่วนของการประกอบ เช่น การประกอบชิ้นส่วนพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่จะให้เป็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น
4. วิธีการให้ทดลองวิเคราะห์งานจากตัวอย่าง (The In-Basket Technique)
วิธีหนึ่งที่นิยมใช้มากก็คือ วิธีที่ใช้ในการพัฒนาความสามารถในการตัดสินใจทางการบริหารที่เรียกว่า In-Basket Technique วิธีนี้มักจะนิยมใช้ในขั้นตอนของการคัดเลือกตัวนักบริหาร มากพอๆ กับการนำมาใช้พัฒนาการจัดการ
วิธีการก็คือ ผู้เข้าอบรมจะได้รับมอบหมายหรือได้รับเอกสารฟ่อนหนึ่ง ซึ่งมีการกำหนดแบบอย่างไว้ล่วงหน้า และมักจะให้พยายามเหมือนกับสภาพที่เป็นจริงของงานของนักบริหารทุกคน ทั้งเรื่องราวที่ต้องตัดสินใจตลอดถึงเรื่องราวที่ส่งเข้ามา ตลอดจนโน้ตข้อความทางโทรศัพท์ที่เลขานุการจัดให้ ภายในเอกสารนั้นก็จะมีการแทรกเรื่องสำคัญ เช่น สินค้าหมดสต๊อค คำร้องเรียนของลูกค้า หรือบันทึกขอให้หัวหน้างานรายงานผลเข้ามาต่าง ๆ เหล่านี้ จะใส่รวมไว้ในเอกสารปนกันอยู่กับเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นปกติที่เป็นงานประจำ เช่น คำขอลาหยุด หนังสือเชิญที่ให้ไปเป็นวิทยากรพูดในงานเลี้ยงอาหารคํ่า หรือข้อตัดสินใจที่เกี่ยวกับที่จะให้ข้อตกลงว่า ควรจะจัดนำเที่ยวในช่วงพักร้อนในอาทิตย์ไหนดี ทั้งหมดนั้นมอบให้กับผู้เข้าอบรมให้ทำการวิเคราะห์และพิจารณา โดยใช้ดุลยพินิจและให้ตัดสินใจว่า จะทำอะไรก่อนหลังภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งคุณภาพของการตัดสินใจและจัดลำดับก่อนหลังที่ต่างกันนั้นเอง จะถูกนำมาพิจารณาความสามารถของแต่ละคน วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้เป็นมากพิเศษ และมักเป็นที่นิยมชมชอบของผู้เข้ารับการอบรม และนอกจากนั้นวิธีดังกล่าวยังสามารถช่วยการคาดการณ์อนาคตของความสำเร็จ ตลอดจนความมีประสิทธิภาพทางการบริหารได้ อย่างไรก็ตามนับว่าเป็นวิธีที่ถึงแม้จะมีความถูกต้องในการดำเนินก็ตาม แต่ก็นับได้ว่าเป็นวิธีที่ค่อนข้างเสียค่าใช้จ่ายมาก มีวิธีหนึ่งที่ได้ทำการพัฒนาใหม่คือ The Kepner-Tregoe Techinque วิธีนี้ค่อนข้างจะสัมพันธ์ กับ In-Basket แต่จะไม่ใช่ In-Basket ทีเดียว หากแต่จะเป็น In-Basket Management Develop­ment ซึ่งตามวิธีการจะยึดถือแนวความคิดของผู้บริหารที่สมเหตุสมผลที่มีประสิทธิภาพ วิธีนี้จะเป็นวิธีผสมของการให้แสดงบทบาทตลอดจนมีการประกอบด้วยเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ (Incident Me­thod) ซึ่งมีความเชื่อว่า ในการใช้วิธีการต่าง ๆ ผสมกันจะช่วยให้ผู้บริหารทำการตัดสินใจโดยมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นและจะได้คุณภาพในการตัดสินใจที่ดีกว่า และถ้าหากได้ร่วมทำกันเป็นทีมแล้ว จะสร้างเสริมให้เกิดความเข้าใจในระหว่างทีมผู้บริหารด้วย วิธีนี้เป็นวิธีที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการเสริมสร้างคุณภาพของการเรียนรู้ เช่น มีการจำลองสภาพที่เป็นจริง มีการใช้วิธีสื่อความหลาย ๆ แบบ และใช้ข้อจำกัดเรื่องเวลาประกอบอยู่ด้วย ทุกอย่างจะมุ่งเน้นให้แก้ไขปัญหาอย่างสมเหตุสมผลและถูกต้องตามระบบของการตัดสินใจเพื่อให้ได้วิธีที่ดีที่สุด แต่ก็มีข้อโต้แย้งได้ว่าวิธีนี้อาจจะไม่สามารถได้คำตอบหรือการตัดสินใจได้ดี สำหรับทุกปัญหาที่ต่างกัน
5.  วิธี Synectics วิธีนี้พยายามที่จะใช้สำหรับฝึกฝนหรือให้ทำการตัดสินในใจโดยไม่ให้มีการจัดเตรียมโปรแกรมไว้ล่วงหน้า และส่งเสริมหรือกระตุ้นให้มีการติดต่ออย่างเสรีในการตัดสินใจ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า เป็นวิธีพัฒนาความคิดริเริ่มนั่นเอง William Gordon ได้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับ กระบวนการคิดริเริมสร้างสรรว่า” เป็นกิจกรรมทางสมองในการระบุปัญหาและการเข้าใจสถานการณ์ ของการแก้ไขปัญหา และการมีความนึกคิดหรือมีเทคนิคในเชิงคิดค้น เพื่อที่จะได้คำตอบที่ดีกว่า” การตัดสินใจในเชิงกลยุทธที่คิดค้นหรือสร้างสรรนั้น น่าจะพิจารณาได้ว่าเป็นวิธีที่ได้ผลหรือคำตอบที่ ถูกต้องตามเหตุผลที่สุด ความคิดริเริ่มสร้างสรรนี้อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่จะสอนกันได้ ดังนั้นวิธีที่ว่านี้จึงพยายามที่จะหาทางส่งเสริมหรือสร้างกลไกที่จะกระตุ้นให้คุณลักษณะเหล่านี้ปรากฏผลขึ้นมา เพื่อที่จะให้ผู้นั้นมีแนวความคิดแปลกใหม่ วิธีการอาจจะมีหนทางทำกลับไปกลับมา คือ นั้นกลายเป็นเรื่องง่ายธรรมดา Gordon ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า วิธีการที่ไม่ยุ่งยากและสามารถให้มีการคิดริเริ่มและเพิ่มความริเริ่มสร้างสรรค์ได้ก็โดยวิธีการแสดงให้เห็นว่า การสร้างสรรค์เหล่านั้นคิดค้นขึ้นมาอย่างไร ในเรื่องนี้ส่วนประกอบของอารมณ์แต่ละคนที่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์นั้นย่อมเป็นสิ่ง สำคัญอย่างยิ่งมากกว่าความเฉลียวฉลาด และหลาย ๆ กรณีการใช้สามัญสำนึกหรือการคิดจากอารมณ์ หรือจากอารมณ์ที่แปลกแหวกแนวนั้น บางครั้งในการแก้ปัญหานั้นถ้าหากเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ถูกต้องแล้ว โอกาสที่จะทำได้สำเร็จกลับจะมีได้มากกว่าการคิดเพื่อเหตุผลข้างเดียว ตัวอย่างเช่นกรณีของคน คิดค้นโฆษณาในทางการตลาด การใช้เทคนิควิธีนี้ย่อมเป็นที่เหมาะสมอย่างยิ่ง
6. การใช้เกมส์บริหาร (Management Games)
เกมส์บริหารก็คือวิธีซึ่งฝึกฝนโดยให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะการดำเนินงานของบริษัท ของหน่วยงาน หรือของอุตสาหกรรม ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ มักจะมีการเสนอขึ้นมาในรูปของสมการ ซึ่งจะมีการเฉลี่ยในรูปแบบต่าง ๆ กัน ภายหลังจากที่ได้มีการตัดสินแล้ว วิธีนี้มักจะใช้มากที่สุดกับ เครื่องคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างของวิธีนี้ก็คือ การทำงานทั่ว ๆ ไปนั้น จะมีการกำหนดให้ทีมหนึ่งของผู้ที่จะเล่นเกมส์ให้ทำงานด้านหนึ่งหรือทำการตัดสินใจเกี่ยวกับงานด้านหนึ่ง ในฐานะที่เป็นนักบริหาร ระดับสูง ในทำนองเดียวกับเกมส์ธุรกิจ จากนั้นผู้ที่เล่นเกมส์ก็จะถูกถามคำถามเพื่อให้ตอบและตัดสิน ใจในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการซื้อวัตถุดิบ การจัดแผนการผลิต ตลอดจนการกำหนดโครงการใช้ทุน การตลาด ตลอดจนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการค้นคว้าและพัฒนา เมื่อผู้เล่นในแต่ละกลุ่มได้ทำการตัดสินใจแล้ว ก็จะนำเอาการตัดสินใจต่าง ๆ เหล่านั้นมาคิดคำนวณตาม รูปแบบที่กำหนดไว้ในทางการบัญชี เป็นต้น เช่นการชี้ให้เห็นถึงผลการตัดสินใจ การกำหนดราคา อย่างหนึ่งจะมีผลต่อปริมาณขายให้ผิดไปอย่างไรบ้าง ซึ่งจากนั้นผู้นั้นก็จะขมวดหรือรวมกับการตัดสินใจของตนให้เข้ากับผู้บริหารทีมอื่น ๆ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจในขั้นสุดท้าย การกำหนดให้แต่ละทีม แข่งขันกัน โดยเปรียบเสมือนเป็นบริษัทต่างหากที่เป็นคู่แข่งขัน และเอาคำตอบมาเทียบกันนี้ โดยทำการวัดทั้งกำไร การแบ่งส่วนตลาด แล้วก็ตัดสินผู้ชนะระหว่างในบรรดาผู้แข่งขัน วิธีนี้เมื่อการแข่งขัน ขั้นหนึ่งจบสิ้นไป และได้คำตอบออกมาก็จะมีการแลกเปลี่ยนคำตอบของอีกบริษัทหนึ่ง เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งนำไปพิจารณาในกลุ่มของตน การใช้เกณฑ์นี้นับว่าเป็นวิธีที่นิยมกันมากและเป็นวิธีที่ช่วยให้ มีการวิเคราะห์ในเชิงตัดสินใจรวมมากที่สุด และให้มีการฝึกฝนการตัดสินใจด้วยการคิดคำนวณจริง ๆ และยังมีช่วงตอนของการได้ข้อมูลหรือได้เห็นประสพการณ์ของวิธีการของกลุ่มตรงข้าม และถูกบังคับ ให้มีสถานการณ์ที่ไม่อาจมีข้อมูลทุกด้านได้ครบ ซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้มักจะเป็นเรื่องจริงในชีวิตของ การทำงาน ข้อเสียที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดก็คือ ข้อจำกัดในเชิงของการคิดสร้างสรรหรือพิจารณา ในเชิงบรรยายความในการตัดสินใจ ความไม่เป็นจริงของข้อมูลบางประการ และการเน้นเชิงปริมาณ มากเกินไปนั้น บางครั้งกลับเป็นผลร้ายที่ทำให้ผู้เล่นที่ถนัดในทางคำนวณมุ่งแต่ที่จะคำนวณหรือสนใจ ให้ได้ตัวเลขคำตอบที่เป็นผลดีทางการเงินเท่านั้น หรือในบางกรณีผู้เข้าร่วมเกมส์นั้นอาจจะตามไม่ทัน และอาจจะหลงทางในทางที่จัดไว้ได้
วิธีการใช้เครื่องช่วยสอน ( Audiovisual – Aids )
การใช้เครื่องช่วยสอนนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะนำมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพในการพัฒนาความสามารถนอกหน้าที่งาน เครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้ อาจจะแตกต่างกันไปตั้งแต่การใช้กระดานดำ จนถึงการใช้ภาพยนตร์ ใช้เทป และอื่น ๆ

การเสริมสร้างทัศนคติในการบริหาร


รูปแบบของการเสริมสร้างทัศนคติในทางการบริหาร (Behavior Modeling)
ลักษณะวิธีการจัดโครงการเพื่อการพัฒนาเสริมสร้างความสามารถเชิงมนุษยสัมพันธ์และการมีทัศนคติที่ถูกต้องทางการบริหารนั้น แต่เดิมในวิธีการอบรมแบบเก่าส่วนใหญ่มักจะดำเนินการตาม รูปแบบที่ 13.1 นั่นคือ การเริ่มด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีก่อน จากนั้นก็จะมุ่งพยายาม อบรมให้มีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและค่านิยมและตามมาด้วยการสังเกตติดตามการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะทำงาน โดยมีเป้าหมายในขั้นสุดท้ายที่มุ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน วิธีดังกล่าวนับว่าเป็นวิธีการฝึกอบรมและพัฒนาซึ่งได้ใช้มาช้านานแล้ว
แต่ในสมัยปัจจุบันได้มีการคิดค้นคว้าและมีแนวความคิดเกี่ยวกับรูปแบบของการพัฒนาในเรื่องนี้ใหม่ ที่เรียกว่า “The Behavior Modeling-Interaction Management” ซึ่งเป็นวิธีการที่จะพยายามวิจัยปัญหาเกี่ยวกับการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนที่ผู้บริหารทุกคนต้องเผชิญในรูปแบบต่าง ๆ ครบถ้วน ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอในเรื่องนี้มักจะเกี่ยวข้องกับการที่จะให้ลูกน้องยอมรับในฐานะ ที่เป็นผู้บริหารใหม่ของเขา การแก้ไขปัญหาในเรื่องเลือกที่รักมักที่ชัง ความไม่มีประสิทธิภาพ หรือการไม่สามารถมอบหมายงานให้ออกไปจากตน รวมตลอดทั้งการพยายามแก้ไขเรื่องปัญหาการไม่ร่วมมือของลูกน้อง การเพิ่มประสิทธิภาพภายใน การใช้วินัยเป็นเครื่องมือ การเอาชนะการต่อต้าน การ เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ การกำหนดเป้าหมายผลงานให้เป็นที่ยอมรับ การกระตุ้นผลผลิตให้อยู่ในระดับถัวเฉลี่ยที่ใช้ได้ การแก้ไขสถานการณ์ของปัญหาที่มีเรื่องอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง การลดอาการเนือย ๆ และเฉื่อยชา รวมตลอดถึงการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ ปัญหาทั้ง 19 ประการนี้นั้น นักวิชาการได้ รวบรวมศึกษาและพยายามหาวิธีที่จะให้ได้ผลที่สุดในการพัฒนาความสามารถในเรื่องนี้ ซึ่งรูปแบบของการพัฒนาใหม่นี้แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ
1.  มุ่งที่จะพยายามออกแบบพฤติกรรมที่จะมีประสิทธิภาพที่สุดเป็นเป้าหมาย ซึ่งส่วนมากมักจะมีการใช้ภาพยนตร์เข้าประกอบ
2.  คือการให้ทดลองแสดงบทบาท (Role Playing)
3.  การใช้กระบวนการทางสังคมเข้าช่วยนั่นคือ ทั้งผู้เข้าอบรมและผู้ทำการอบรมจะร่วมกันพยายามค้นหาบทบาทที่มีประสิทธิภาพให้เป็นที่เข้าใจระหว่างกันหลังจากนั้นก็ต่อขั้นถัดไปคือ
4.  การให้นำเอาส่วนที่ได้ฝึกอบรมนั้นไปใช้และช่วยในงานที่ทำอยู่โดยตรง
ทั้ง 4 ขั้นตอนนั้น กระบวนการอบรมหรือพัฒนาจะแสดงได้ดังภาพ13.2 ซึ่งจะดำเนินไปเป็น ลำดับ คือ
เริ่มต้นด้วยการเข้าในพฤติกรรมใหม่ ๆ ที่ถูกต้อง หรือให้เรียนรู้จากการแสดงบทบาทและการปฎิบัติ จากนั้นก็จะมีการติดตามผลความมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะได้ผลต่อเนื่องมาถึงการติดตามการเปลี่ยนแปลงของทัศนคติและค่านิยมที่ได้เปลี่ยนไปแล้ว และในที่สุดเป้าหมายก็คือ การได้เข้าใจเกี่ยว กับทฤษฎี และนำมาอธิบายเกี่ยวกับประสิทธิภาพของพฤติกรรมใหม่ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วหรือที่ได้ปรับปรุงแล้ว

การพัฒนาองค์การ



วิธีการพัฒนานักบริหารวิธีหนึ่งซึ่งครอบคลุมคาบเกี่ยวกับหลายวิธีนั้นโดยมาก มักจะมีการศึกษาในแง่ของการพัฒนาองค์การ (Organization Development) ซึ่งมุ่งพยายามที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยม ตลอดจนโครงสร้างขององค์การและวิธีปฏิบัติทางการบริหารต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างให้เกิดผลงานที่ดีขึ้น ในการจัดทำพัฒนาองค์กรนั้นมีปัจจัยต่าง ๆ จำนวนมากที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอด้วย และลักษณะส่วนใหญ่มักจะดำเนินการเหมือน ๆ กันตามขั้นตอน ดังนี้คือ
ก.) จุดมุ่งของการพัฒนาจะอยู่ที่องค์การทั้งหมดเป็นสำคัญ โดยมิใช่การมุ่งที่ตัวบุคคลหรือกลุ่มย่อยขนาดต่าง ๆ
ข.) วิธีการอบรมที่ใช้มักจะใช้วิธีการร่วมถกปัญหาต่าง ๆ หรือพยายามมุ่งจัดทีมงาน การพยายาม มุ่งฝึกหัดให้มีการจัดทีมงานให้ดี หรือการใช้วิธีการประชุมเผชิญหน้ากันอย่างเปิดเผยและให้มีประสบการณ์ในเรื่องของการขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ดังนั้นจะเห็นได้ว่าวิธีการที่ใช้ในที่นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่อง ของการให้มีการเรียนรู้จากประสบการณ์
ค.) โดยปกติมักจะมีการใช้ผู้ชำนาญการที่เป็นที่ปรึกษาจากภายนอกหรือใช้สื่อแห่งการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เพื่อที่จะเอื้ออำนวยและประสานงานในกระบวนการพัฒนาองค์การหรือเป็นผู้กำกับการให้สามารถสรุปผลให้เกิดขึ้นได้
การจัดทำพัฒนาองค์การนั้นมักจะมีลำดับแต่ละขั้นดังนี้ คือ
1.  การวิเคราะห์เบื้องต้น ในขั้นแรกนี้คือการมีที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาปัญหาที่อาจจะมีอยู่ในองค์การ
2.  การเก็บข้อมูล ภายหลังจากการได้มีการวิเคราะห์ปัญหาองค์การแล้ว ที่ปรึกษาก็จะออกไปสำรวจในจุดต่าง อย่างลึกซึ้งเพื่อที่จะค้นหาลักษณะของปัญหาและแนวทางที่อาจจะแก้ไขได้
3.  การให้เรื่องราวข้อมูลย้อนกลับและการจัดให้มีการประชุมกัน ในขั้นนี้ก็คือที่ปรึกษาจะนำเอาเรื่องที่ได้ค้นพบนั้นป้อนกลับไปยังกลุ่มต่าง ๆ และกำหนดลำดับก่อนหลังของสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนแปลง
4.  การวางแผนและการแก้ไปัญหา ในขั้นนี้การแก้ปัญหาก็จะเริ่มกับกลุ่มต่าง ๆ โดยแต่ละกลุ่มจะเลือกวิธีและหนทางในการแก้ปัญหาของตนที่จะให้ได้คำตอบออกมา
5.  การสร้างทีมงาน ในขั้นนี้ที่ปรึกษาจะใช้วิธีการให้แสดงบทบาทหรือวิธี Sensitivity Training หรือการใช้เกมบริหารเพื่อที่จะเสริมให้กลุ่มแก้ปัญหาร่วมกันได้มากขึ้น ในรูปแบบที่จะเป็นลักษณะ เป็นทีม
6.  การพันาระหว่างกลุ่ม ในขั้นนี้ที่ปรึกษาจะพยายามพัฒนาให้มีความกลมเกลียวกันในระหว่างทีมงานหลาย ๆ กลุ่ม เพื่อที่จะให้เป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นที่มีการประสานงานระหว่างทีมต่าง ๆ
7.  การติดตามผลและการประเมินผล ในขั้นสุดท้ายนี้ที่ปรึกษาจะทำการวิเคราะห์สรุปผลเพื่อประเมินเทียบกับเป้าหมายของการพัฒนาองค์การที่ได้ตั้งไว้
วิธีการพัฒนาองค์การนี้ จากผลที่ได้มีการทดลองทำมา นับเป็นวิธีหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้การเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตและความพอใจต่าง ๆ เป็นอันมาก อย่างไรก็ตามความจำเป็นด้านการวิจัยค้นคว้านี้ยังต้องมีการกระทำอีกมาก เพื่อจะได้ทราบถึงลักษณะวิธีการพัฒนาตนเองที่แตกต่างกัน ตลอดจนความเหมาะสมที่จะนำมาใช้กับองค์การแต่ละชนิด และควรจะศึกษาให้ลึกลงไปถึงความเกี่ยวพันต่อสภาพฐานะของแต่ละกรณีด้วย
ที่มาhttp://www.thaihrwork.com/tag/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99/